วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2552

ตัวอย่างคำกล่าวต่าง ๆ

1. คำกล่าวรายงาน

คำกล่าวรายงาน
ของ
นายแพทย์พิเชฐ อังศุวัชรากร
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยโสธร
เนื่องในพิธีเปิดศูนย์พัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา โรงพยาบาลยโสธร
วันที่ 7 มิถุนายน 2550 เวลา 09.30 น.
…………………………………………………………
เรียน ฯพณฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ

ผม นายแพทย์พิเชฐ อังศุวัชากร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยโสธร ในนาม คณะข้าราชการ และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลยโสธร รู้สึกซาบซึ้ง และเป็นเกียรติอย่างสูง ที่ ฯพณฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กรุณาให้เกียรติเดินทาง มาเป็นประธานเปิดศูนย์พัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา โรงพยาบาลยโสธรในวันนี้
ผม ขอกราบเรียนรายละเอียดความเป็นมา ของศูนย์พัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ดังนี้

สืบเนื่องจากการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2521 ที่ประชุมได้มีมติให้จัดการประชุมสมัชชาโลก ว่าด้วยผู้สูงอายุขึ้น ได้มีมติ ที่นครเวียนนา เมื่อ พ.ศ. 2525 ว่า ผู้สูงอายุ คือ ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ทั้งชายและหญิง เป็นประชากรที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ ที่มีค่าของชาติ เพราะเป็นผู้ที่สามารถถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ให้แก่ลูกหลาน และเยาวชนรุ่นหลัง อีกทั้งเป็นผู้นำ และเป็นผู้ที่ทำประโยชน์ให้แก่สังคม หากมีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง และสุขภาพจิตที่ดี จะเป็นมิ่งขวัญของครอบครัวและสังคมต่อไป
ปัจจุบัน จังหวัดยโสธร มีผู้สูงอายุ จำนวน 56,435 คน คิดเป็นร้อยละ 9.6 ของประชากรทั้งหมด ผู้สูงอายุมักมีปัญหาเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน พบว่ามีผู้สูงอายุเจ็บป่วยจำนวน 3,852 คน คิดเป็นร้อยละ 31.63 โรคความดันโลหิตสูง จำนวน 3,032 คน คิดเป็นร้อยละ 30.30
จังหวัดยโสธร ได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ โดยได้ดำเนินกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน และเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธรได้จัดการประชุมแกนนำผู้สูงอายุ และผู้แทนจากชมรมผู้สูงอายุในจังหวัดยโสธร เพื่อหารูปแบบแนวทางการดูแลผู้สูงอายุ แบบองค์รวม โดยมีนายแพทย์สมยศ ดีรัศมี ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตตรวจราชการที่ 14 เป็นประธาน ในที่ประชุมครั้งนั้น มีการระดมสมอง และสอบถามความต้องการของผู้สูงอายุ ในการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพ และกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผู้สูงอายุให้ความสนใจ จนกระทั่ง ที่ประชุมมีมติให้จัดตั้งศูนย์พัฒนาสุขภาพ ผู้สูงอายุเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในปีมหามงคลเฉลิม พระชนมพรรษา 80 พรรษา และให้ศูนย์ฯ แห่งนี้ เป็นศูนย์กลางพบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ของผู้สูงอายุในจังหวัดยโสธร โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร ได้จัดสรรงบประมาณในการจัดตั้งจำนวน 1 ล้าน 7 แสนบาท และโรงพยาบาลยโสธรสมทบ จากเงินบำรุงโรงพยาบาลอีก 1 ล้านบาท การดำเนินกิจกรรมเป็นรูปแบบการบรรยาย สาธิต ฝึกปฏิบัติ และแบ่งกลุ่มการเข้าร่วมกิจกรรมตามห้องต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วยห้อง ฝึกสมาธิ ห้องดนตรีสากล ห้องคาราโอเกะ ห้องดนตรีไทยภาคกลาง ภาคอีสาน ห้องออกกำลังกาย ห้องฝึกศิลปหัตถกรรม ห้องเล่นเกม และห้องเกมคอมพิวเตอร์ ทุกห้องจะมีผู้สูงอายุที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านเป็นพี่เลี้ยง และให้คำแนะนำ ทั้งนี้จังหวัดยโสธรยังได้จัดการทอดผ้าป่าเพื่อหารายได้สมทบกองทุนพัฒนาผู้สูงอายุ เพื่อมอบให้กรรมการดำเนินงานพัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุ ใช้ในกิจกรรมของศูนย์อีกด้วย คาดว่าการดำเนินกิจกรรมของศูนย์ฯ แห่งนี้ จะทำให้ผู้สูงอายุได้รับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อให้มีสุขภาวะในทุกด้าน
บัดนี้ ได้เวลาอันอุดมฤกษ์แล้ว กระผม ขอกราบเรียนเชิญท่าน มอบใบประกาศเกียรติคุณแก่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินสมทบกองทุนพัฒนาผู้สูงอายุเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มอบเงินกองทุนฯ แก่ประธานชมรมผู้สูงอายุจังหวัดยโสธร พร้อมทั้งกล่าวปราศรัย และกล่าวเปิดศูนย์พัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ต่อไปด้วยครับ
.......................................................................
2. คำกล่าวเปิดงาน
คำกล่าวเปิดงาน
โดย คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
ในพิธีเปิดงาน “ รวมช่อชาวบรรณฯ สานสัมพันธ์ 46 ”
วันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2546
ณ หอประชุมสุนันทานุสรณ์
……………………………………………………
เรียน คณาจารย์และนักศึกษาทุกรุ่นของโปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์

กระผมมีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาเป็นประธานเปิดงาน “รวมช่อชาวบรรณฯ สานสัมพันธ์ 46 ” ในวันนี้
ดังที่ทราบกันดีแล้วว่า ทางโปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ได้จัดงานนี้มาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน จนกลายเป็นประเพณีของภาควิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ ซึ่งมีประโยชน์ต่อนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่และนักศึกษาที่จบการศึกษาไปแล้ว หลายประการ
ประการแรก รุ่นพี่กับรุ่นน้องได้มาพบปะสังสรรค์กัน เพื่อสร้างความรัก และความสามัคคีที่ดีต่อกัน

ประการที่สอง เพื่ออำลาและแสดงความยินดีแก่นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ที่กำลังจะจบการศึกษาในปีการศึกษานี้

ประการที่สาม นักศึกษาที่จบการศึกษาไปแล้วนั้น ได้งานทำที่ดี และประสบความสำเร็จในชีวิต แล้วได้แนะนำการดำเนินชีวิตแก่นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่เพื่อเป็นแนวทางในการเรียนและการตัดสินใจในภายหน้าต่อไป
ด้วยเหตุนี้กระผม จึงขอสนับสนุนและเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งให้มีการจัดงาน “รวมช่อชาวบรรณฯ สานสัมพันธ์ 46 ” นี้ขึ้น กระผมมีความเชื่อมั่นว่า งานนี้จะสร้างความสัมพันธ์ ความผูกพันระหว่างอาจารย์ นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ และที่จบการศึกษาไปแล้ว

บัดนี้ได้เวลาอันสมควรแล้ว กระผมขอเปิดงาน “รวมช่อชาวบรรณฯ สานสัมพันธ์ 46 ” และขอให้การจัดงานครั้งนี้สำเร็จบรรลุเป้าหมายที่มุ่งหวังเป็นไปด้วยดี ขอขอบคุณ
...................................................................
3. คำกล่าวปิดงาน
คำกล่าวปิดงาน
การเสวนาเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย ครั้งที่ ๑๒ (๑/๒๕๕๑)
เรื่อง “การบริหารจัดการงานประจำสู่งานวิจัย (Routine to Research)
ในสถาบันอุดมศึกษาอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ”
………………………………………………………………
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทรอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
ขอบคุณทุกๆ มหาวิทยาลัยเครือข่าย ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมเสวนาฯ ในครั้งนี้ ผมเชื่อว่า R2R หรือ Routine to Research นั้น เป็นโครงการที่มีประโยชน์ โดยคำๆนี้เกิดขึ้นจากพวกเราชาวมหาวิทยาลัยเองที่ถูกมองจากสังคมว่า เป็นบ่อเกิดของวิชาการและงานวิจัย ย้อนหลังไปเมื่อ 7 ปี ที่แล้ว ในขณะนั้นผมยังดำรงตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้มีส่วนร่วมในการคิดริเริ่มโครงการ R2R ขึ้น แม้จะได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิจัยมืออาชีพ ว่า สิ่งที่ทำอยู่ไม่ใช่งานวิจัย เพราะงานวิจัยจริงๆน่าจะวิเคราะห์ให้ลึกกว่านี้ และเสียงอีกส่วนหนึ่งมาจากผู้ปฏิบัติงานประจำว่า ผู้บริหารให้ทำงานที่ยุ่งยากซับซ้อนเกินความสามารถของ พวกเขา โดยกลัวคำว่างานวิจัยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามพวกเราก็ยังคงยืนยันว่าจะต้องทำให้เกิด R2R ในโรงพยาบาลศิริราชให้ได้ ในที่นี้ผมจึงขอยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมในส่วนใด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลดระยะเวลาในการทำงาน หรือการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นก็ตาม เหล่านี้ก็ถือว่าเป็นการวิจัยได้ทั้งนั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชื่อดังเท่านั้น แต่ R2R เป็นได้ตั้งแต่งานวิจัยขนาดเล็กต่อยอดไปสู่งานวิจัยขนาดใหญ่ได้ หากมีการตั้งโจทย์ที่เจาะลึกลงไปเรื่อยๆ จึงขอเป็นกำลังใจให้ทุกสถาบัน ในการทำกิจกรรม R2R
ในปัจจุบันในวงการมหาวิทยาลัยมีคำกล่าวที่ว่า Good University teaches but Great University transforms people นั่นหมายความว่าขณะนี้การสอนไม่เน้นให้ตอบคำถามเพียง อย่างเดียว แต่เน้นให้“ถามเป็น”มากขึ้น ซึ่งคำถามจะกระตุ้นให้ค้นหาคำตอบ ค้นพบวิธีได้มาซึ่งคำตอบ เหล่านี้เองทำให้มหาวิทยาลัยกลายเป็นแหล่งภูมิปัญญาของประเทศ และสามารถพัฒนาไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยบุคลากรทั้งหมดของมหาวิทยาลัยจะต้องมุ่งเป้าไปในทิศทางเดียวกัน คือ ต้องมีความคิดสร้างสรรค์จากงานประจำ
จากที่ผมเองมีส่วนร่วมในกิจกรรม R2Rของโรงพยาบาลศิริราชนั้น ในระยะเริ่มแรกเริ่มต้นขึ้นได้ที่หน่วย HA โดยพบว่าหลังจากเริ่มต้นไปได้ระยะหนึ่ง ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มความถนัดขึ้นมาเกือบ 80 กลุ่ม ทำอย่างไรจึงจะต่อยอดไปสู่งานวิจัยได้ จึงนำกลุ่มทั้งหลายมาร่วมกันค้นคิดคำถามงานวิจัย โดยได้รับความร่วมมือจากหลายๆ ท่าน ไม่ว่าจะเป็น ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช อ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี จึงขอเรียนให้ทุกท่านทราบว่า R2R ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากคนๆ เดียว จะต้องได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะผู้บริหาร โดยในส่วนของผู้บริหารเองจะต้องลด command and control โดยใช้ให้น้อยลง ไม่เช่นนั้นจะเกิดนักวิจัยแบบ R2R ได้ยาก และสิ่งที่อยากจะฝากทุกๆ ท่านในวันนี้คือ ทุกท่านต้องกลับไปจุดไฟกระตุ้นผู้บริหาร ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารที่อยู่เหนือท่านขึ้นไป หรือแม้กระทั่งผู้บริหารระดับสูง ให้เห็นความสำคัญ โดยตัวผมเองโชคดีที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับ R2R ของโรงพยาบาลศิริราชตั้งแต่เริ่มต้น เพราะเห็นความสำคัญและเห็นประโยชน์ที่จะได้รับจากงานในส่วนนี้ ดังนั้นเมื่อได้รับตำแหน่งอธิการบดี จึงพยายามอย่างยิ่ง ที่จะผลักดันให้เกิด R2R ในทุกส่วนของมหาวิทยาลัย เพราะเกิดประโยชน์ในการพัฒนาหน้างานทั้งสิ้น และขอย้ำกับทุกๆ ท่านในที่นี้อีกครั้งว่า R2Rมิใช่กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นได้ในโรงพยาบาลเท่านั้น โดยเฉพาะเรื่องการเรียนการสอนเป็นเรื่องแรกๆ ที่ควรจะทำให้เกิด R2R เพราะ Research in Education มีความสำคัญมาก
ขอให้การมารวมตัวกันในวันนี้กลายเป็นการก่อเกิด CoPs ของ R2R ซึ่งเราจะร่วมมือกัน ช่วยเหลือกัน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และสิ่งที่จะขาดเสียไม่ได้สำหรับการตั้งต้น R2R นั้น ไม่อาจเกิดขึ้นได้จากคณะกรรมการเพียงชุดเดียว ต้องอาศัยคณะทำงานที่เข้มแข็งเพื่อคอยให้ความช่วยเหลือในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการให้กำลังใจและการสนับสนุน ด้านทรัพยากร ซึ่งผมเชื่อเหลือเกินว่า แต่ละมหาวิทยาลัยมีวัฒนธรรมที่คล้ายๆ กัน คือ Leadership คุณธรรมจริยธรรม ความเป็นมืออาชีพและนวัตกรรม ถ้าทุกๆ มหาวิทยาลัยทำให้เกิดขึ้นได้แล้วกระจายออกไปสู่สังคม เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปอย่างแน่นอน
สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณและฝากความหวังไว้กับทุกๆ ท่านว่า เราจะยังคงร่วมมือกับเครือข่ายนี้ต่อไป จะติดตามผลการดำเนินการ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างต่อเนื่อง ให้เกิดเป็น Learning Organization ที่ชัดเจน ผมเชื่อว่าพวกเราทำได้และขอขอบคุณผู้จัดงานในครั้งนี้ ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการดำเนินงานในหน่วยงานของท่านให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ขอบคุณครับ
.........................................................................
4. คำกล่าวแนะนำบุคคล
ครูเอื้อ สุนทรสนาน
ครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นชาวสมุทรสงคราม เกิดที่ตำบลโรงหวี อำเภออัมพวา เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2453 เริ่มเรียนที่โรงเรียนวัดใหม่ราษฎร์บูรณะ จังหวัดสมุทรสงคราม เริ่มเข้ากรุงเทพเมื่อปี พ.ศ.2460 โดยอาศัยอยู่กับ หมื่นไพเราะพจมาน และ เรียนต่อที่โรงเรียนวัดระฆังโฆสิตา รามจนจบชั้นประถม ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งโรงเรียนพรานหลวง ขึ้นที่สวนมิสกวัน เพื่อสอนดนตรีทุกประเภท ครูเอื้อ จึงย้ายมาเรียนที่นี่ โดย ครูเอื้อ ถนัดดนตรีสากลจึงได้เล่าเรียนโดยตรงกับ ครูโฉลก เนตรสุต และผู้เป็นครูใหญ่ ในสมัยนั้นคือ พระเจนดุริยางค์ เครื่องดนตรีที่ครูเอื้อสนใจ และ เล่นได้ดีเป็นพิเศษคือ ไวโอลิน และ แซกโซโฟน ผลงานของ ครูเอื้อ นั้นมีมากมาย เริ่มจาก
พ.ศ.2479 แต่งเพลง "ยอด ตองต้องลม" เป็นเพลงแรก และ ร้องเพลงเป็นเพลงแรกคือเพลง "ในฝัน"พ.ศ.2483 แต่งเพลงปลุกใจ เพลงแรกคือ "รักสงบ"
พ.ศ.2489 บรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์เป็นเพลงแรกคือ พระราชนิพนธ์ "ยามเย็น" และแต่งเพลงถวายพระพรเป็นเพลงแรก คือ "ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น"
พ.ศ.2482 ก่อตั้งวงดนตรี สุนทราภรณ์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าวง นักร้อง นักดนตรี และผู้ควบคุมวง

พ.ศ.2512 ก่อตั้งร.ร.สุนทราภรณ์การดนตรีพ.ศ.2518-2519 ร่วมก่อตั้งสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ผลงานเพลงที่แต่งไว้มีหลายประเภท เช่น เพลงถวายพระพร เพลงปลุกใจ เพลงสดุดี เพลงประจำจังหวัด เพลงมหาวิทยาลัย หรือสถาบันต่างๆ เพลงรำวง เพลงรัก เพลงชมธรรมชาติ เพลงประกอบละครเวที ละครวิทยุ-โทรทัศน์ และภาพยนตร์ ฯลฯ รวมทั้งสิ้นประมาณ 2000 เพลง เพลงสุดท้ายที่ร้องคือ "พระเจ้าทั้งห้า" ผลงานเพลงเกี่ยวกับเทศกาลต่างๆของไทย ซึ่งครูเอื้อได้แต่งไว้ยังคงได้รับความนิยม และถูกใช้เปิดงานตามเทศกาลต่างๆทุกปีจนเพลงเหล้านั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของ เทศกาลไปด่วย เช่น สวัสดีปีใหม่,รำวงเริงสงกรานต์,รำวงลอยเรือ เป็นต้น
ตลอด เวลา 42 ปี อยู่กับงานดนตรีมาโดยตลอด สร้างสรรผลงานอมตะไว้อย่างมากมาย ได้รับรางวัลเกียรติยศต่างๆ จากหลากหลายสถาบัน ระหว่างปี พ.ศ. 2523 ครูเอื้อได้เข้าเฝ้าและร้องเพลงถวายเป็นครั้งสุดท้าย เพลงที่ร้องถวายคือ "พรานทะเล" และตั้งแต่เดือน ธ.ค. ของปีนั้นครูเอื้อก็เริ่มมีอาการทรุดหนักจากอาการเนื้อร้ายที่ปอด ในวันที่ 1 เม.ย. 2524 ก็ถึงแก่กรรมด้วยวัย 71 ปี เอื้อ สุนทรสนาน ได้รับพระราชทานโล่เกียรติยศในฐานะศิลปินตัวอย่าง สาขาผู้ประพันธ์เพลง ประจำปี 2523-2524 "แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน" เป็น ครั้งที่ 4 รับพระราชทานแทนโดย คุณอติพร เสนะวงศ์ บุตรีคนเดียว ของท่านเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2524"
............................................................................
5. คำกล่าวปราศรัย
คำกล่าวปราศรัย
ของ
ฯพณฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ
เนื่องในพิธีเปิดศูนย์พัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา
โรงพยาบาลยโสธร
วันที่ 7 มิถุนายน 2550 ณ โรงพยาบาลยโสธร
..................................................................
นมัสการพระคุณเจ้า
ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดยโสธร คณะกรรมการดำเนินงานและท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
ผม มีความยินดี และเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสมาเป็นประธานในพิธี เปิดศูนย์พัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา โรงพยาบาลยโสธร ในวันนี้
จากรายงานของผู้อำนวยการโรงพยาบาลยโสธร ทำให้ทราบว่าจังหวัดยโสธรและโรงพยาบาลยโสธร ได้ตระหนักถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ ผู้ซึ่งได้วางรากฐานอันมั่นคงแข็งแรงให้แก่สังคมไทย จึงได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์พัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ในการดำเนินกิจกรรม ที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ซึ่งได้แก่ นโยบายด้านสุขภาพอนามัย ด้านการศึกษา ด้านความมั่นคงของรายได้และการทำงาน ด้านสังคม วัฒนธรรม และด้านสวัสดิการสังคม ประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ทั้งจำนวน และ สัดส่วนประชากร
ประชากรกลุ่มนี้ จะมีปัญหาด้านสุขภาพ ร่างกาย และจิตใจ เนื่องจากเป็นวัย ที่ร่างกายมีการถดถอยเสื่อมลง จึงส่งผลให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ และปัญหาทางสุขภาพจิต การที่จะทำให้ผู้สูงอายุ มีอายุขัยเฉลี่ยที่สูงขึ้น ตลอดทั้งมีสุขภาพแข็งแรงทั้งร่างกาย จิตใจ จึงจำเป็นต้องมีการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค เพื่อนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ผม ขอแสดงความชื่นชมยินดี ต่อจังหวัดยโสธร และโรงพยาบาลยโสธร ที่มีความพยายามในอันที่จะดูแลส่งเสริมสุขภาพชีวิต ของผู้สูงอายุ โดยการจัดตั้งศูนย์พัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาขึ้น
ผม ขอขอบคุณผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตตรวจราชการที่ 14 ขอบคุณนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยโสธร ขอบคุณผู้อำนวยการโรงพยาบาลยโสธร และทีมงาน ขอบคุณประธานชมรมผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุทุกท่าน ตลอดจนภาคส่วน ต่าง ๆ ที่ได้ร่วมกันทำงานในครั้งนี้
ขออำนวยอวยพร ให้ประสบผลสำเร็จในการดำเนินงาน ตามเจตจำนงที่วางไว้ทุกประการ ขอให้ศูนย์แห่งนี้ มีความวัฒนา สถาพร เป็นที่พึ่งพิงแก่ผู้สูงอายุตลอดไป

ผมขอเปิดศูนย์พัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ณ บัดนี้
......................................................................

วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สารคดี

สารคดีสัตว์ "เสือกับนกยูง"

นกยูงตัวผู้หางยาวสลวยตัวหนึ่งซึ่งกำลังเดินตรงมาที่หาดทรายริมลำห้วย หยุดชะงัก ย่อขาลงหมอบนิ่ง หันหน้ามองด้านซ้ายและขวา ก่อนจะลุกขึ้นหันกลับ เดินอย่างรวดเร็วกลับเข้าชายป่าตรงด่านเล็กๆ ที่เดินออกมาในทันทีที่ได้ยินเสียงร้องจากนกจาบคาเคราน้ำเงินตัวหนึ่ง นกจาบคาเคราน้ำเงินตัวนั้นเกาะอยู่บนกิ่งไม้เหนือซุ้มบังไพรที่ผมซ่อนตัวอยู่ ซุ้มบังไพรกั้นอย่างมิดชิดทั้ง ๔ ด้าน แต่ด้านบนเปิดโล่ง นกยูงและสัตว์อื่นๆ ที่เดินมาทางพื้นดินจะมองไม่เห็นผม แต่ไม่ใช่นกจาบคาเคราน้ำเงินที่เกาะอยู่เบื้องบน วันนั้นผมได้ความรู้บทใหม่ รู้ว่าสัตว์ป่าไม่ได้อยู่กันอย่างโดดเดี่ยว พวกมันอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยโดยไม่พึ่งพาเฉพาะเผ่าพันธุ์เดียวกัน การทำงานคราวนั้น ผมได้รูปนกยูงตัวผู้หางยาวสวยงามมาบ้าง ได้รูปนกยูง แต่ตัวนกยูงผมไม่ได้รู้จักเพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใด

งานของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำในห้วงเวลาหลังๆมานี้ นอกจากการติดตามเสือโคร่งโดยจับเสือโคร่งติดสัญญาณวิทยุแล้ว งานวิจัยหลักอีกอย่างหนึ่งคือการวางกล้องดักถ่ายภาพเสือโคร่งในทุกพื้นที่ของป่าห้วยขาแข้ง รวมทั้งผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวรทั้งด้านตะวันออกและตะวันตก หลายปีมาแล้วที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำได้รับความร่วมมือจากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย วางกล้องดักถ่ายภาพเพื่อสำรวจประชากรเสือโคร่ง ภาพเสือถูกนำมาตรวจสอบลายขน เสือแต่ละตัวมีลายขนแตกต่าง นั่นทำให้การตรวจสอบจำนวนเสือที่บันทึกภาพได้แม่นยำ "ตอนแรกๆ เราได้เสือไม่กี่ตัวหรอกครับ" สมโภชน์ ดวงจันทราศิริ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำคนปัจจุบัน ในฐานะผู้ควบคุมโครงการวางกล้องดักถ่าย เล่าให้ผมฟัง "เราสำรวจในพื้นที่เพื่อหาร่องรอยตามด่าน เส้นทางเดินของสัตว์ป่า ประกอบกับการดูพื้นที่ในแผนที่ ในพื้นที่ราวๆ ๕๐ ตารางกิโลเมตรซึ่งเป็นอาณาเขตของเสือโคร่งตัวเมียตัวหนึ่ง เราพยายามวางกล้อง ๑ ตัว และบริเวณรอบๆ อีก" สมโภชน์อธิบาย การกำหนดจุดตั้งกล้องในพื้นที่ป่าในระยะห่างกันราว ๓ กิโลเมตรนั้นไม่ใช่งานง่ายๆ ของเจ้าหน้าที่ผู้ทำงานนี้ นอกจากจะต้องอ่านแผนที่แม่นยำ ใช้เครื่องมือบอกพิกัดสัญญาณผ่านดาวเทียม (GPS) คล่องแคล่วแล้ว พวกเขายังต้องมีทักษะในการดูร่องรอยของเสือโคร่ง เช่น รอยตีน รอยคุ้ย รวมทั้งรอยสเปรย์หรือฉี่ที่เสือพ่นติดไว้ตามต้นไม้ หลายๆ ครั้งมุ่งไปถึงจุดหมายคือจุดตั้งกล้องซึ่งไม่เคยไปมาก่อน เป็นจุดที่กำหนดมาในแผนที่ แต่ไม่มีด่าน ไม่มีร่องรอยสัตว์ป่าอื่นๆ หรือเสือเลย พวกเขาต้องสำรวจรอบๆ ใหม่ บางครั้งจุดที่เหมาะสมอาจห่างจากจุดที่กำหนดมากว่า ๑ กิโลเมตร "ทำมา ๕ ปี เด็กพวกนี้เริ่มมีประสบการณ์และชำนาญมากขึ้นแล้วครับ" สมโภชน์พูดถึงเจ้าหน้าที่ของเขาด้วยน้ำเสียงภูมิใจ

ปลายเดือนธันวาคม เป็นเวลาร่วมเดือนแล้วที่เราอยู่ในป่าทางตอนใต้ของลำน้ำขาแข้งเพื่อภารกิจวางกล้องดักถ่าย กล้องแต่ละตัวจะติดตั้งอยู่ในตำแหน่งเดิมตัวละ ๑๕ วัน และทุกตัวจะต้องได้รับการตรวจเช็ก ๑ ครั้งในรอบ ๓ วัน ตั้งแต่เช้าทุกคนจะแยกย้ายไป แคมป์จะเงียบเหงาไปตลอดวัน บรรยากาศจะคึกคักขึ้นบ้างในช่วงเย็นๆ เรามีรถออกไปซื้อเสบียง ๑๐ วันต่อ ๑ ครั้ง อาหารจึงมักหรูในช่วงแรกๆ ส่วนวันหลังๆ นั้น วุ้นเส้นผัดปลากระป๋อง ปลากระป๋องผัดวุ้นเส้น รวมทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปผัด คือเมนูหลักๆ ผู้ชายหลายคนอยู่ร่วมแคมป์เดียวกัน เรื่องพูดคุยนั้นหมดไปนานแล้ว หรือหากมีก็เป็นเรื่องหรือมุกตลกซ้ำๆ และเราก็หัวเราะกับมุกซ้ำๆ นี่แหละ หลายคนจึงมีอาการต่างๆ บางคนนั่งดูมด บ้างดูนกกลางคืน อ่านหนังสือเล่มเดิมซ้ำไปซ้ำมาและบางคนขึ้นเปลนอนตั้งแต่ยังไม่หนึ่งทุ่ม อากาศปลายเดือนธันวาคมหนาวยะเยือก แสงจันทร์กระจ่างนวล กองไฟเป็นสถานที่เดียวที่ให้ความอบอุ่น เครื่องดื่มร้อนๆ ของเราคือน้ำข้าวใส่น้ำตาลซึ่งให้รสชาติไม่แพ้เครื่องดื่มอื่นๆ ปัญหาใหญ่ที่เราพบเสมอๆ เวลาไปตรวจสอบกล้องคือช้าง พวกช้างไม่ลังเลที่จะทำลายกล้องทุกครั้งที่พวกมันโดนบันทึกภาพ กล่องเหล็กที่เราใช้และเอากล้องใส่ไว้ข้างในป้องกันความเสียหายได้บ้าง แต่ก็ต้องปรับ รวมทั้งติดตั้งใหม่ทุกครั้ง จากกล้องดักถ่าย เราได้ภาพสัตว์อื่นอีกมาก...กระทิง วัวแดง สมเสร็จ เสือดาว ฯลฯ และบางครั้งคือภาพคนลักลอบเข้ามาล่าสัตว์ป่า รวมทั้งภาพพระธุดงค์ แต่นั่นแหละ ปัญหาใหญ่ของเราคือช้าง นอกจากทำลายกล้อง การต้องวิ่งหนีช้างบางตัวที่ดูเหมือนจะอารมณ์เสียเสมอๆ ก็ไม่ใช่เรื่องสนุกสนานเอาเสียเลย

ทุกๆ วันเราต้องเดินป่าร่วมๆ ๑๐ กิโลเมตร การใช้ด่านหรือทางสัญจรที่สัตว์ป่าใช้ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะพบเจอกับเจ้าของเส้นทาง นอกจากช้าง สัตว์อีกชนิดที่เราพบทุกๆ วันคือนกยูง ในฤดูนี้นกยูงที่พบมักเป็นฝูงใหญ่ ในจำนวนหลายๆ ตัวนั้นโดยมากจะเป็นตัวเมีย มีตัวผู้อยู่เพียงตัวเดียว ช่วงเวลานี้ไม่เป็นการยากที่จะแยกระหว่างนกยูงตัวเมียและตัวผู้ เพราะตัวผู้จะมีหางยาว ในช่วงเวลาหลังจากเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อนกยูงตัวผู้สลัดขนหางยาวๆ ทิ้งแล้ว ไม่ง่ายเลยที่จะดูว่าตัวไหนเป็นตัวผู้หรือตัวเมียเมื่อพบพวกมันอยู่ข้างๆ ทาง นกยูงตัวผู้ใช้ขนหางอันยาวสลวยสำหรับรำแพนอวดความแข็งแรงเพื่อให้ตัวเมียเลือก หางสวยๆ เป็นเพียงเครื่องมือชนิดหนึ่ง เมื่อหมดภารกิจก็ถูกสลัดทิ้งไป ดูเหมือนมันจะไม่ได้อาลัยกับหางสวยๆ ที่มีไว้เพื่อแสดงตัวตนแต่อย่างใด ครั้งที่มีโอกาสเห็นและบันทึกภาพนกยูงในครั้งแรก ผมเห็นเพียงความงดงามของนกยูงตัวผู้ สิ่งที่เห็นนั้นคล้ายจะไม่ใช่สิ่งที่มันเป็นแต่อย่างใด หลายเดือนแล้วที่ผม "ตาม" เสืออย่างจริงจัง อาจด้วยวิถีของเสือ จึงทำให้ผมรู้จักนกยูง

ข่าวแจก






"สวนดุสิต ห่วงเด็กติดบุหรี่"
แม้จะมีการรณรงค์งดสูบบุหรี่ เพิ่มคำเตือน เพิ่มภาพพิษภัยจากบุหรี่ที่ข้างซอง แต่ก็ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังสูบบุหรี่อยู่ วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี ถือเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก โดยองค์การอนามัยโลก เนื่องจากเล็งเห็นอันตรายของบุหรี่ต่อสุขภาพของผู้สูบบุหรี่และผู้ไม่สูบบุหรี่แต่ได้รับควันบุหรี่ และมีวันงดสูบบุหรี่โลกจัดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ.1988
การจัดงานวันงดสูบบุหรี่โลกก็เพื่อกระตุ้นให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบ และให้รัฐบาลชุมชนและประชากรโลกตระหนักถึงความสำคัญและเข้าร่วมกิจกรรม องค์การอนามัยโลกระบุชัดเจนว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของการป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่สามารถป้องกันได้ และกำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก (World No Tobacco Day) พร้อมทั้งขอความร่วมมือให้ผู้สูบบุหรี่ทั่วโลกหยุดการสูบบุหรี่อย่างน้อย 1 วัน เพื่อให้อากาศไร้มลพิษจากควันบุหรี่
สำหรับปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดคำขวัญเพื่อรณรงค์การไม่สูบบุหรี่ว่า "เยาวชนรุ่นใหม่ ร่วมใจ ต้านภัยบุหรี่" โดยมีกลุ่มเยาวชนและวัยรุ่นเป็นเป้าหมายหลักในการควบคุมและป้องกันปัญหาการสูบบุหรี่ น.ส.กันยารัตน์ จิรทันตศิลป์ หรือกิ่ง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 โปรแกรมวิชาการศึกษาพิเศษ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) พูดถึงการสูบบุหรี่ของวัยรุ่นว่า เกิดจากการลอกเลียนแบบกัน เพื่อนชวน อยากลองและเป็นแฟชั่น น่าจะเป็นสาเหตุใหญ่ในการสูบบุหรี่ โดยส่วนตัวจะไม่ชอบกลิ่นบุหรี่และจะหลีกเลี่ยงไม่เข้าใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่ เพราะมองว่าเป็นโทษต่อคนรอบข้างด้วย บุหรี่แตกต่างจากเหล้า ตรงที่ผู้ที่ดื่มเหล้าก็จะเมาคนเดียว แต่สำหรับบุหรี่ คนที่อยู่ในละแวกข้างเคียงกับคนสูบบุหรี่จะได้รับผลจากควันบุหรี่ไปด้วย "สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหานี้มองว่าควรเริ่มจากครอบครัวเป็นอันดับแรก ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก ให้ความรักความอบอุ่นและเป็นที่ปรึกษาได้ในทุกเรื่อง สถานศึกษาควรมีกฎระเบียบที่เคร่งครัดห้ามสูบบุหรี่ในสถานศึกษาพร้อมทั้งกำหนดโทษที่ชัดเจน เพื่อนช่วยกันตักเตือน และสุดท้ายตัวเองเท่านั้นที่จะคิดได้ว่าจะเลือกสูบบุหรี่หรือไม่" น.ส.กันยารัตน์กล่าว นายปิยะพันธ์ ปิยโอฬาร หรือ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 โปรแกรมวิชาเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มสด. กล่าวว่า บุหรี่ทำให้ติดง่าย เลิกยาก เพราะมีฤทธิ์เสพติดสูง สาเหตุที่เยาวชนไทยสูบบุหรี่ส่วนใหญ่เกิดจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อยากลอง อยากเท่ การสูบบุหรี่มีผลเสียมากมาย เช่น โรคมะเร็งที่อวัยวะต่างๆ เช่น มะเร็งในปอด มะเร็งในช่องปาก มะเร็งที่กล่องเสียง มะเร็งที่ลำคอ ถุงลมโป่งพอง สิ้นเปลืองเงินที่ต้องจ่ายเป็นค่าบุหรี่ หงุดหงิดอารมณ์เสียเมื่อไม่ได้สูบ อากาศเป็นพิษ เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี มีกลิ่นปาก ฟันดำ ฟันผุ แก่ง่าย อายุสั้น เป็นต้น
เมื่อมีโทษมากมายอย่างนี้จึงอยากให้เยาวชน/วัยรุ่นไทยเลิกสูบบุหรี่ และหันมาทำกิจกรรมอื่นๆ ที่มีประโยชน์มากกว่า ซึ่งปัจจุบันภายในสถานศึกษานั้นนอกเหนือจากการเรียนก็มีกิจกรรมต่างๆ ให้ทำมากมาย หรือหันมาเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพที่ดีกันดีกว่า ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรหาทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกันและอยากให้มีแนวทางใหม่ๆ บ้างไม่ใช้เพียงวิธีเดิมๆ เนื่องจากเยาวชนและวัยรุ่นในยุคปัจจุบันมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว อยากให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และฝากไปถึงเยาวชนที่ยังสูบบุหรี่ว่าควรรักตัวเองให้มาก การสูบบุหรี่ไม่เพียงทำร้ายตนเองและคนที่คุณรักเท่านั้น สังคม ประเทศชาติก็ถูกพวกคุณทำร้ายเช่นเดียวกัน
ฝ่ายประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
เบอร์ติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ 02-244-5101

วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2552

การเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ ทั้ง 3 ลักษณะ

1. ข่าวเกี่ยวกับหน่วยงาน องค์กร และสถาบันโดยตรง

สวนดุสิต ร่วมกับสถานประกอบการ
พร้อมใจยกระดับความปลอดภัยของอาหารและรักษาสิ่งแวดล้อม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิทักษ์ จันทร์เจริญ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.)เปิดเผยว่า ในเดือนมีนาคม นี้ มสด. เตรียมดำเนินโครงการยกระดับการบริการและผลิตอาหารอย่างปลอดภัยและรักษาสิ่งแวดล้อมเนื่องจากความปลอดภัยของอาหาร และสุขอนามัยนับเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน ในประเทศไทยเองปัจจุบันมีปัญหาด้านการจัดบริการอาหารให้ปลอดภัย ประกอบกับกระแสตื่นตัวในการรักษาสิ่งแวดล้อมยังน้อยเกินไป จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการยกระดับและพัฒนาการบริการและผลิตอาหารให้ทัดเทียมสากล ซึ่งรัฐบาลก็ได้ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยของอาหาร โดยเน้นการผลิตอาหารและบริการอาหารสะอาดปลอดภัยจากสารพิษ รวมถึงรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้นในฐานะที่ มสด.เป็นแหล่งในการบริการวิชาการที่มีหลักสูตรด้านอาหาร ได้แก่ หลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร หลักสูตรอุตสาหกรรมอาหารและการบริการ หลักสูตรการจัดการธุรกิจอาหารและภัตตาคาร หลักสูตรการจัดการสิ่งแวดล้อมเมือง และหน่วยงานที่บริการและผลิตอาหาร อาทิ โครงการบริการอาหารกลางวัน 1 โครงการบริการอาหารและขนมอบ โรงเรียนการอาหารนานาชาติสวนดุสิต และโรงแรมสวนดุสิตเพลส

รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มสด. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางในการยกระดับการบริการและอาหารประกอบด้วยการนำเสนอกิจกรรมการยกระดับสถานที่ผลิตอาหารของสถานสงเคราะห์เด็ก กิจกรรมการยกระดับสถานที่ผลิตอาหารของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตโดยความร่วมมือกับหน่วยงานผลิตอาหารในมหาวิทยาลัย การพัฒนาแผงลอยริมบาทวิถี และการศึกษาประเมินความเสี่ยงของอาหารในผลิตภัณฑ์ประเภทซูชิ ผักสลัดและเบเกอรี่ โดยสุ่มตัวอย่างอาหารจากตลาดในพื้นที่ 50 เขตกรุงเทพมหานคร รวมทั้งศึกษาร้านอาหารต้นแบบที่สามารถจัดบริการได้ดีในด้านการบริการอาหารปลอดภัยและรักษาสิ่งแวดล้อม โดยจะมีการประชาสัมพันธ์ การจัดอบรมเพื่อเพิ่มเติมความรู้และเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ การสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนทัศนคติและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อมให้แก่ชุมชนบริเวณใกล้เคียง และร้านค้า โดยตั้งเป้าหมายในการอบรมผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 500 คน พัฒนาสถานสงเคราะห์เด็กประมาณ 25 แห่ง ยกระดับแผงลอยประมาณมากกว่า 30 ร้าน และร้านอาหารที่คาดว่าจะถูกคัดเลือกเพื่อเป็นร้านต้นแบบด้านการบริการดี อาหารปลอดภัยและรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่น้อยกว่า 50 แห่งจากทุกเขตของกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวที่ มสด. ร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กองสุขาภิบาลอาหารและสำนักงานเขตดุสิตกรุงเทพมหานคร ร่วมกันดำเนินการครั้งนี้ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อสุขภาพและระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอันมากซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจด้านอาหารจะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างดี ในสภาวะเศรษฐกิจของไทยกำลังมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตามขอให้คำนึงถึงประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ การทำให้คนไทยได้กินอาหารที่ดีและปลอดภัย
2. ข่าวเกี่ยวกับกิจกรรมที่จัดทำเพื่อการประชาสัมพันธ์

กระทงเทียนหอมสวนดุสิต
สีสันใหม่แห่งสายน้ำ ต้อนรับเทศกาลลอยกระทง

รศ.ดร.ชวนี ทองโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต กล่าวถึงเทศกาลลอยกระทงว่า การลอยกระทงเป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ เป็นประเพณีที่ได้รับความนิยมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เมื่อถึงวันเพ็ญเดือน ๑๒ ประชาชนจะจัดทำกระทงเป็นรูปต่างๆ ด้วยใบตอง หยวกกล้วย ดอกบัว เปลือกมะพร้าว หรือวัสดุอื่นๆ ตกแต่งกระทงให้สวยงามด้วยดอกไม้ และจุดธูปเทียนด้วยเครื่อง สักการบูชา หรือบางท้องถิ่นก็มีความเชื่อ ใส่สตางค์ หมากพลูตัดเส้นผม เพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ชีวิต ก่อนลอยในแม่น้ำและจะอธิฐานขอพร และขอขมาต่อพระแม่คงคา และการละเล่นแบบไทย การประกวดนางนพมาศ และสิ่งสำคัญทุกคนในครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกันในการทำกิจกรรม เช่น การทำกระทง ทำบุญตักบาตร

รศ.ดร. ชวนี ทองโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเพณีการลอยกระทง ยังเป็นประเพณีที่ได้รับความนิยมอย่างมาก แต่สิ่งที่ทำให้ประเพณีของเราเริ่มเปลี่ยนแปลงไป สังเกตได้จากการทำกระทง ที่เริ่มใช้วัสดุที่ ทำให้ย่อยสลายได้อยาก เช่น พลาสติก โฟม บางชนิดต้องใช้เวลาหลายปี เป็นผลให้เกิดมลพิษทางน้ำการทำให้หมดโดยเร็วก็คือการเผาซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศเช่นกัน หรือแม้กระทั่งการเล่น พลุ ดอกไม้ไฟ ประทัด ไม่ควรจุดใกล้บริเวณแรงดูดของไฟฟ้า หรือน้ำมันที่ก่อให้เกิดเชื้อเพลิง อาคารบ้านเรือน บางชนิดก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะกับเด็กที่มองเป็นเรื่องสนุก อยากให้ทุกคนร่วมกันรักษาประเพณีไทยเพื่อให้ประเทศไทยเรามีประเพณีลอยกระทงที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม นอกจากนี้สถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม ได้ร่วมรักษาประเพณีไทยด้วยการทำกระทงเทียนหอมเพิ่มสีสันใหม่ให้สายน้ำ

นางศุภลักษณ์ ทับทวี วิทยากรประจำสถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เปิดเผยว่า “ กระทงเทียนหอมสวนดุสิต เริ่มมีการประดิษฐ์คิดค้นกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ โดยอดีตผู้อำนวยการสำนักศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการเลียนแบบดอกบัวหลวงที่มีกลีบดอกสวยงาม ลักษณะของดอกบัวหลวงจะมีลักษณะกลมกว้างใหญ่ ผิวใบเรียบ สีเขียวขอบน้ำตาล ดอกเป็นกลีบซ้อนกันหลายชั้น มีสีขาว ชมพู เหลือง ซึ่งจะมีรูปแบบคล้ายกับกระทงใบตอง กระทงเทียนหอมสวนดุสิต เมื่อนำไปลอยในแม่น้ำแล้วจุดเทียนให้แสงสว่างไฟ จะมีแสงสะท้อนบวกกับดวงจันทร์ที่กระทบกับผิวน้ำ ซึ่งแสงสว่างจากกระทงเทียนหอมสวนดุสิต จะต่างจากวัสดุธรรมชาติ ตรงที่ว่าใบตองเป็นสีเขียวปกติ แล้วแต่งด้วยดอกไม้ แต่กระทงเทียนหอม สวนดุสิต คือ สีสันที่เราสร้างมันขึ้นมา เพื่อเป็นการเพิ่มสีสันให้กับสายน้ำในเทศกาลลอยกระทง ”

ทางด้านนางสาวบุษกร เข่งเจริญ วิทยากรประจำ สถาบันภาษาฯกล่าวเพิ่มเติมว่า “ ในส่วนของขั้นตอนการทำกระทงเทียนหอมสวนดุสิตนั้นเริ่มตั้งแต่การทำตัวแม่พิมพ์โดยการแกะสลักฟักทองเป็นรูปกลีบดอกบัว ซึ่งขั้นตอนนี้ถือว่าเป็นขั้นตอนแรก และเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการประดิษฐ์กระทงเทียนหอมสวนดุสิต ซึ่งต้องอาศัยฝีมือและความชำนาญในการแกะสลักเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งเป็นสูตรเฉพาะของสวนดุสิต และในปีนี้ทางเราได้เพิ่มสีสันที่หลากหลายลงไปในกระทงดอกบัว อาทิ สีแดง สีส้ม สีฟ้า สีม่วงและสีที่ได้รับความนิยมคือ สีเหลือง และสีชมพู โดยตัวกระทงจะมีกลิ่นหอมaromatherapy จาก essential oil ที่มีคุณสมบัติของกลิ่นหอมนาน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเนื่องจากคุณสมบัติลอยน้ำได้ดี จึงสะดวกในการเก็บขึ้นจากแม่น้ำลำคลอง เหมาะกับเทศกาลลอยกระทงที่กำลังจะมาถึง และสามารถนำเป็นของที่ระลึกหรือใช้ประดับตกแต่งบ้านได้ด้วย ”

ด้วยระยะเวลานับ ๑๐ ปี ผนวกกับฝีมือและความเป็นคนช่างคิดช่างประดิษฐ์ ในส่วนของงานศิลปะประดิษฐ์ ที่ได้มีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นโดยผู้ที่มีใจรักในงานศิลปะแขนงนี้ ทางมหาวิทยาลัยฯ มีนโยบายที่มุ่งเน้นส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยฯ มีความเชี่ยวชาญ รวมทั้งการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม สถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม จึงได้จัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเอกลักษณ์โดดเด่นและเป็นที่ยอมรับของคนในสังคมอยู่เป็นนิจ

แม้ว่ากระทงเทียนฯ ของสถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จะดำเนินธุรกิจมากกว่า ๑๐ ปีแล้ว ยังคงไม่มีคู่แข่ง เพราะกระทงเทียนหอมลอยน้ำนั้น จะมีขั้นตอนการทำที่ค่อนข้างยุ่งยาก และมีความประณีตสูง ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ยังไม่มีผู้ประกอบการหันมาทำกระทงเทียนหอมลอยน้ำอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ยังจะมีการพัฒนาในเรื่องของรูปแบบกระทงเทียนหอมสวนดุสิต โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นดอกไม้ชนิดอื่นๆ บ้าง เช่น ดอกกุหลาบ หรือดอกไม้ไทยชนิดอื่นๆ

ปัจจุบันกระทงเทียนหอมสวนดุสิต จัดจำหน่ายที่ อาคารเยาวภา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เพียงแห่งเดียว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม โทร.๐-๒๒๔๔-๕๓๕๐,๒
3. ข่าวเกี่ยวกับเรื่องที่มีประโยชน์ต่อสังคมแม้จะไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน องค์กร และสถาบันโดยตรง
สังคมไทยน่าห่วง เด็ก เยาวชนดื่มเหล้าเพิ่มเกือบ 3 เท่า
นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เปิดเผยถึงสถานการณ์ทางสังคมไทยไตรมาส 3 ประจำปี 2550 ว่า จากการติดตามของ สศช.พบว่ามิติด้านคุณภาพคน มีการจ้างงานขยายตัวในภาคอุตสาหกรรม การค้า โรงแรม และภัตตาคาร มีผู้ว่างงานร้อยละ 1.2 โดยเฉพาะกลุ่มผู้จบระดับปริญญา มีอัตราว่างงานสูงกว่าระดับอื่น ส่วนโรคเฝ้าระวังที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชนในช่วงไตรมาสนี้ ได้แก่ ไข้เลือดออก และโรคมือเท้าปาก
มิติด้านความมั่นคงทางสังคม พบว่า ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินลดลง การกระทำผิดของเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ชาย อายุ 15 - 18 ปี ส่วนการประสบอันตราย และการเจ็บป่วยจากการทำงาน มีแนวโน้มลดลงในทุกกรณี
มิติด้านพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของคน พบว่า เด็กและเยาวชนที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำในปี 2549 เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าของปี 2547 โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพิ่มถึง 15 เท่า ในกลุ่มเด็กอาชีวศึกษา ส่วนการบริโภคยาสูบ ในกลุ่มเด็กและผู้หญิงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน
มิติด้านสิ่งแวดล้อม พบว่าปริมาณฝุ่นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ลดความรุนแรงลง ส่วนมลพิษทางเสียงยังคงเป็นปัญหาหลักของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งต้นเหตุหลักมาจากยานพาหนะ ผับ เธค คาราโอเกะ และโรงงานอุตสาหกรรม
ที่มา : โดย ผู้จัดการออนไลน์ 12 ธันวาคม 2550 12:53 น.