วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2552

ตัวอย่างคำกล่าวต่าง ๆ

1. คำกล่าวรายงาน

คำกล่าวรายงาน
ของ
นายแพทย์พิเชฐ อังศุวัชรากร
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยโสธร
เนื่องในพิธีเปิดศูนย์พัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา โรงพยาบาลยโสธร
วันที่ 7 มิถุนายน 2550 เวลา 09.30 น.
…………………………………………………………
เรียน ฯพณฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ

ผม นายแพทย์พิเชฐ อังศุวัชากร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยโสธร ในนาม คณะข้าราชการ และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลยโสธร รู้สึกซาบซึ้ง และเป็นเกียรติอย่างสูง ที่ ฯพณฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กรุณาให้เกียรติเดินทาง มาเป็นประธานเปิดศูนย์พัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา โรงพยาบาลยโสธรในวันนี้
ผม ขอกราบเรียนรายละเอียดความเป็นมา ของศูนย์พัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ดังนี้

สืบเนื่องจากการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2521 ที่ประชุมได้มีมติให้จัดการประชุมสมัชชาโลก ว่าด้วยผู้สูงอายุขึ้น ได้มีมติ ที่นครเวียนนา เมื่อ พ.ศ. 2525 ว่า ผู้สูงอายุ คือ ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ทั้งชายและหญิง เป็นประชากรที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ ที่มีค่าของชาติ เพราะเป็นผู้ที่สามารถถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ให้แก่ลูกหลาน และเยาวชนรุ่นหลัง อีกทั้งเป็นผู้นำ และเป็นผู้ที่ทำประโยชน์ให้แก่สังคม หากมีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง และสุขภาพจิตที่ดี จะเป็นมิ่งขวัญของครอบครัวและสังคมต่อไป
ปัจจุบัน จังหวัดยโสธร มีผู้สูงอายุ จำนวน 56,435 คน คิดเป็นร้อยละ 9.6 ของประชากรทั้งหมด ผู้สูงอายุมักมีปัญหาเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน พบว่ามีผู้สูงอายุเจ็บป่วยจำนวน 3,852 คน คิดเป็นร้อยละ 31.63 โรคความดันโลหิตสูง จำนวน 3,032 คน คิดเป็นร้อยละ 30.30
จังหวัดยโสธร ได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ โดยได้ดำเนินกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน และเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธรได้จัดการประชุมแกนนำผู้สูงอายุ และผู้แทนจากชมรมผู้สูงอายุในจังหวัดยโสธร เพื่อหารูปแบบแนวทางการดูแลผู้สูงอายุ แบบองค์รวม โดยมีนายแพทย์สมยศ ดีรัศมี ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตตรวจราชการที่ 14 เป็นประธาน ในที่ประชุมครั้งนั้น มีการระดมสมอง และสอบถามความต้องการของผู้สูงอายุ ในการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพ และกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผู้สูงอายุให้ความสนใจ จนกระทั่ง ที่ประชุมมีมติให้จัดตั้งศูนย์พัฒนาสุขภาพ ผู้สูงอายุเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในปีมหามงคลเฉลิม พระชนมพรรษา 80 พรรษา และให้ศูนย์ฯ แห่งนี้ เป็นศูนย์กลางพบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ของผู้สูงอายุในจังหวัดยโสธร โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร ได้จัดสรรงบประมาณในการจัดตั้งจำนวน 1 ล้าน 7 แสนบาท และโรงพยาบาลยโสธรสมทบ จากเงินบำรุงโรงพยาบาลอีก 1 ล้านบาท การดำเนินกิจกรรมเป็นรูปแบบการบรรยาย สาธิต ฝึกปฏิบัติ และแบ่งกลุ่มการเข้าร่วมกิจกรรมตามห้องต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วยห้อง ฝึกสมาธิ ห้องดนตรีสากล ห้องคาราโอเกะ ห้องดนตรีไทยภาคกลาง ภาคอีสาน ห้องออกกำลังกาย ห้องฝึกศิลปหัตถกรรม ห้องเล่นเกม และห้องเกมคอมพิวเตอร์ ทุกห้องจะมีผู้สูงอายุที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านเป็นพี่เลี้ยง และให้คำแนะนำ ทั้งนี้จังหวัดยโสธรยังได้จัดการทอดผ้าป่าเพื่อหารายได้สมทบกองทุนพัฒนาผู้สูงอายุ เพื่อมอบให้กรรมการดำเนินงานพัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุ ใช้ในกิจกรรมของศูนย์อีกด้วย คาดว่าการดำเนินกิจกรรมของศูนย์ฯ แห่งนี้ จะทำให้ผู้สูงอายุได้รับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อให้มีสุขภาวะในทุกด้าน
บัดนี้ ได้เวลาอันอุดมฤกษ์แล้ว กระผม ขอกราบเรียนเชิญท่าน มอบใบประกาศเกียรติคุณแก่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินสมทบกองทุนพัฒนาผู้สูงอายุเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มอบเงินกองทุนฯ แก่ประธานชมรมผู้สูงอายุจังหวัดยโสธร พร้อมทั้งกล่าวปราศรัย และกล่าวเปิดศูนย์พัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ต่อไปด้วยครับ
.......................................................................
2. คำกล่าวเปิดงาน
คำกล่าวเปิดงาน
โดย คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
ในพิธีเปิดงาน “ รวมช่อชาวบรรณฯ สานสัมพันธ์ 46 ”
วันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2546
ณ หอประชุมสุนันทานุสรณ์
……………………………………………………
เรียน คณาจารย์และนักศึกษาทุกรุ่นของโปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์

กระผมมีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาเป็นประธานเปิดงาน “รวมช่อชาวบรรณฯ สานสัมพันธ์ 46 ” ในวันนี้
ดังที่ทราบกันดีแล้วว่า ทางโปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ได้จัดงานนี้มาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน จนกลายเป็นประเพณีของภาควิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ ซึ่งมีประโยชน์ต่อนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่และนักศึกษาที่จบการศึกษาไปแล้ว หลายประการ
ประการแรก รุ่นพี่กับรุ่นน้องได้มาพบปะสังสรรค์กัน เพื่อสร้างความรัก และความสามัคคีที่ดีต่อกัน

ประการที่สอง เพื่ออำลาและแสดงความยินดีแก่นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ที่กำลังจะจบการศึกษาในปีการศึกษานี้

ประการที่สาม นักศึกษาที่จบการศึกษาไปแล้วนั้น ได้งานทำที่ดี และประสบความสำเร็จในชีวิต แล้วได้แนะนำการดำเนินชีวิตแก่นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่เพื่อเป็นแนวทางในการเรียนและการตัดสินใจในภายหน้าต่อไป
ด้วยเหตุนี้กระผม จึงขอสนับสนุนและเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งให้มีการจัดงาน “รวมช่อชาวบรรณฯ สานสัมพันธ์ 46 ” นี้ขึ้น กระผมมีความเชื่อมั่นว่า งานนี้จะสร้างความสัมพันธ์ ความผูกพันระหว่างอาจารย์ นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ และที่จบการศึกษาไปแล้ว

บัดนี้ได้เวลาอันสมควรแล้ว กระผมขอเปิดงาน “รวมช่อชาวบรรณฯ สานสัมพันธ์ 46 ” และขอให้การจัดงานครั้งนี้สำเร็จบรรลุเป้าหมายที่มุ่งหวังเป็นไปด้วยดี ขอขอบคุณ
...................................................................
3. คำกล่าวปิดงาน
คำกล่าวปิดงาน
การเสวนาเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย ครั้งที่ ๑๒ (๑/๒๕๕๑)
เรื่อง “การบริหารจัดการงานประจำสู่งานวิจัย (Routine to Research)
ในสถาบันอุดมศึกษาอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ”
………………………………………………………………
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทรอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
ขอบคุณทุกๆ มหาวิทยาลัยเครือข่าย ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมเสวนาฯ ในครั้งนี้ ผมเชื่อว่า R2R หรือ Routine to Research นั้น เป็นโครงการที่มีประโยชน์ โดยคำๆนี้เกิดขึ้นจากพวกเราชาวมหาวิทยาลัยเองที่ถูกมองจากสังคมว่า เป็นบ่อเกิดของวิชาการและงานวิจัย ย้อนหลังไปเมื่อ 7 ปี ที่แล้ว ในขณะนั้นผมยังดำรงตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้มีส่วนร่วมในการคิดริเริ่มโครงการ R2R ขึ้น แม้จะได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิจัยมืออาชีพ ว่า สิ่งที่ทำอยู่ไม่ใช่งานวิจัย เพราะงานวิจัยจริงๆน่าจะวิเคราะห์ให้ลึกกว่านี้ และเสียงอีกส่วนหนึ่งมาจากผู้ปฏิบัติงานประจำว่า ผู้บริหารให้ทำงานที่ยุ่งยากซับซ้อนเกินความสามารถของ พวกเขา โดยกลัวคำว่างานวิจัยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามพวกเราก็ยังคงยืนยันว่าจะต้องทำให้เกิด R2R ในโรงพยาบาลศิริราชให้ได้ ในที่นี้ผมจึงขอยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมในส่วนใด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลดระยะเวลาในการทำงาน หรือการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นก็ตาม เหล่านี้ก็ถือว่าเป็นการวิจัยได้ทั้งนั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชื่อดังเท่านั้น แต่ R2R เป็นได้ตั้งแต่งานวิจัยขนาดเล็กต่อยอดไปสู่งานวิจัยขนาดใหญ่ได้ หากมีการตั้งโจทย์ที่เจาะลึกลงไปเรื่อยๆ จึงขอเป็นกำลังใจให้ทุกสถาบัน ในการทำกิจกรรม R2R
ในปัจจุบันในวงการมหาวิทยาลัยมีคำกล่าวที่ว่า Good University teaches but Great University transforms people นั่นหมายความว่าขณะนี้การสอนไม่เน้นให้ตอบคำถามเพียง อย่างเดียว แต่เน้นให้“ถามเป็น”มากขึ้น ซึ่งคำถามจะกระตุ้นให้ค้นหาคำตอบ ค้นพบวิธีได้มาซึ่งคำตอบ เหล่านี้เองทำให้มหาวิทยาลัยกลายเป็นแหล่งภูมิปัญญาของประเทศ และสามารถพัฒนาไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยบุคลากรทั้งหมดของมหาวิทยาลัยจะต้องมุ่งเป้าไปในทิศทางเดียวกัน คือ ต้องมีความคิดสร้างสรรค์จากงานประจำ
จากที่ผมเองมีส่วนร่วมในกิจกรรม R2Rของโรงพยาบาลศิริราชนั้น ในระยะเริ่มแรกเริ่มต้นขึ้นได้ที่หน่วย HA โดยพบว่าหลังจากเริ่มต้นไปได้ระยะหนึ่ง ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มความถนัดขึ้นมาเกือบ 80 กลุ่ม ทำอย่างไรจึงจะต่อยอดไปสู่งานวิจัยได้ จึงนำกลุ่มทั้งหลายมาร่วมกันค้นคิดคำถามงานวิจัย โดยได้รับความร่วมมือจากหลายๆ ท่าน ไม่ว่าจะเป็น ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช อ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี จึงขอเรียนให้ทุกท่านทราบว่า R2R ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากคนๆ เดียว จะต้องได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะผู้บริหาร โดยในส่วนของผู้บริหารเองจะต้องลด command and control โดยใช้ให้น้อยลง ไม่เช่นนั้นจะเกิดนักวิจัยแบบ R2R ได้ยาก และสิ่งที่อยากจะฝากทุกๆ ท่านในวันนี้คือ ทุกท่านต้องกลับไปจุดไฟกระตุ้นผู้บริหาร ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารที่อยู่เหนือท่านขึ้นไป หรือแม้กระทั่งผู้บริหารระดับสูง ให้เห็นความสำคัญ โดยตัวผมเองโชคดีที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับ R2R ของโรงพยาบาลศิริราชตั้งแต่เริ่มต้น เพราะเห็นความสำคัญและเห็นประโยชน์ที่จะได้รับจากงานในส่วนนี้ ดังนั้นเมื่อได้รับตำแหน่งอธิการบดี จึงพยายามอย่างยิ่ง ที่จะผลักดันให้เกิด R2R ในทุกส่วนของมหาวิทยาลัย เพราะเกิดประโยชน์ในการพัฒนาหน้างานทั้งสิ้น และขอย้ำกับทุกๆ ท่านในที่นี้อีกครั้งว่า R2Rมิใช่กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นได้ในโรงพยาบาลเท่านั้น โดยเฉพาะเรื่องการเรียนการสอนเป็นเรื่องแรกๆ ที่ควรจะทำให้เกิด R2R เพราะ Research in Education มีความสำคัญมาก
ขอให้การมารวมตัวกันในวันนี้กลายเป็นการก่อเกิด CoPs ของ R2R ซึ่งเราจะร่วมมือกัน ช่วยเหลือกัน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และสิ่งที่จะขาดเสียไม่ได้สำหรับการตั้งต้น R2R นั้น ไม่อาจเกิดขึ้นได้จากคณะกรรมการเพียงชุดเดียว ต้องอาศัยคณะทำงานที่เข้มแข็งเพื่อคอยให้ความช่วยเหลือในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการให้กำลังใจและการสนับสนุน ด้านทรัพยากร ซึ่งผมเชื่อเหลือเกินว่า แต่ละมหาวิทยาลัยมีวัฒนธรรมที่คล้ายๆ กัน คือ Leadership คุณธรรมจริยธรรม ความเป็นมืออาชีพและนวัตกรรม ถ้าทุกๆ มหาวิทยาลัยทำให้เกิดขึ้นได้แล้วกระจายออกไปสู่สังคม เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปอย่างแน่นอน
สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณและฝากความหวังไว้กับทุกๆ ท่านว่า เราจะยังคงร่วมมือกับเครือข่ายนี้ต่อไป จะติดตามผลการดำเนินการ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างต่อเนื่อง ให้เกิดเป็น Learning Organization ที่ชัดเจน ผมเชื่อว่าพวกเราทำได้และขอขอบคุณผู้จัดงานในครั้งนี้ ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการดำเนินงานในหน่วยงานของท่านให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ขอบคุณครับ
.........................................................................
4. คำกล่าวแนะนำบุคคล
ครูเอื้อ สุนทรสนาน
ครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นชาวสมุทรสงคราม เกิดที่ตำบลโรงหวี อำเภออัมพวา เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2453 เริ่มเรียนที่โรงเรียนวัดใหม่ราษฎร์บูรณะ จังหวัดสมุทรสงคราม เริ่มเข้ากรุงเทพเมื่อปี พ.ศ.2460 โดยอาศัยอยู่กับ หมื่นไพเราะพจมาน และ เรียนต่อที่โรงเรียนวัดระฆังโฆสิตา รามจนจบชั้นประถม ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งโรงเรียนพรานหลวง ขึ้นที่สวนมิสกวัน เพื่อสอนดนตรีทุกประเภท ครูเอื้อ จึงย้ายมาเรียนที่นี่ โดย ครูเอื้อ ถนัดดนตรีสากลจึงได้เล่าเรียนโดยตรงกับ ครูโฉลก เนตรสุต และผู้เป็นครูใหญ่ ในสมัยนั้นคือ พระเจนดุริยางค์ เครื่องดนตรีที่ครูเอื้อสนใจ และ เล่นได้ดีเป็นพิเศษคือ ไวโอลิน และ แซกโซโฟน ผลงานของ ครูเอื้อ นั้นมีมากมาย เริ่มจาก
พ.ศ.2479 แต่งเพลง "ยอด ตองต้องลม" เป็นเพลงแรก และ ร้องเพลงเป็นเพลงแรกคือเพลง "ในฝัน"พ.ศ.2483 แต่งเพลงปลุกใจ เพลงแรกคือ "รักสงบ"
พ.ศ.2489 บรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์เป็นเพลงแรกคือ พระราชนิพนธ์ "ยามเย็น" และแต่งเพลงถวายพระพรเป็นเพลงแรก คือ "ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น"
พ.ศ.2482 ก่อตั้งวงดนตรี สุนทราภรณ์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าวง นักร้อง นักดนตรี และผู้ควบคุมวง

พ.ศ.2512 ก่อตั้งร.ร.สุนทราภรณ์การดนตรีพ.ศ.2518-2519 ร่วมก่อตั้งสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ผลงานเพลงที่แต่งไว้มีหลายประเภท เช่น เพลงถวายพระพร เพลงปลุกใจ เพลงสดุดี เพลงประจำจังหวัด เพลงมหาวิทยาลัย หรือสถาบันต่างๆ เพลงรำวง เพลงรัก เพลงชมธรรมชาติ เพลงประกอบละครเวที ละครวิทยุ-โทรทัศน์ และภาพยนตร์ ฯลฯ รวมทั้งสิ้นประมาณ 2000 เพลง เพลงสุดท้ายที่ร้องคือ "พระเจ้าทั้งห้า" ผลงานเพลงเกี่ยวกับเทศกาลต่างๆของไทย ซึ่งครูเอื้อได้แต่งไว้ยังคงได้รับความนิยม และถูกใช้เปิดงานตามเทศกาลต่างๆทุกปีจนเพลงเหล้านั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของ เทศกาลไปด่วย เช่น สวัสดีปีใหม่,รำวงเริงสงกรานต์,รำวงลอยเรือ เป็นต้น
ตลอด เวลา 42 ปี อยู่กับงานดนตรีมาโดยตลอด สร้างสรรผลงานอมตะไว้อย่างมากมาย ได้รับรางวัลเกียรติยศต่างๆ จากหลากหลายสถาบัน ระหว่างปี พ.ศ. 2523 ครูเอื้อได้เข้าเฝ้าและร้องเพลงถวายเป็นครั้งสุดท้าย เพลงที่ร้องถวายคือ "พรานทะเล" และตั้งแต่เดือน ธ.ค. ของปีนั้นครูเอื้อก็เริ่มมีอาการทรุดหนักจากอาการเนื้อร้ายที่ปอด ในวันที่ 1 เม.ย. 2524 ก็ถึงแก่กรรมด้วยวัย 71 ปี เอื้อ สุนทรสนาน ได้รับพระราชทานโล่เกียรติยศในฐานะศิลปินตัวอย่าง สาขาผู้ประพันธ์เพลง ประจำปี 2523-2524 "แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน" เป็น ครั้งที่ 4 รับพระราชทานแทนโดย คุณอติพร เสนะวงศ์ บุตรีคนเดียว ของท่านเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2524"
............................................................................
5. คำกล่าวปราศรัย
คำกล่าวปราศรัย
ของ
ฯพณฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ
เนื่องในพิธีเปิดศูนย์พัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา
โรงพยาบาลยโสธร
วันที่ 7 มิถุนายน 2550 ณ โรงพยาบาลยโสธร
..................................................................
นมัสการพระคุณเจ้า
ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดยโสธร คณะกรรมการดำเนินงานและท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
ผม มีความยินดี และเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสมาเป็นประธานในพิธี เปิดศูนย์พัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา โรงพยาบาลยโสธร ในวันนี้
จากรายงานของผู้อำนวยการโรงพยาบาลยโสธร ทำให้ทราบว่าจังหวัดยโสธรและโรงพยาบาลยโสธร ได้ตระหนักถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ ผู้ซึ่งได้วางรากฐานอันมั่นคงแข็งแรงให้แก่สังคมไทย จึงได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์พัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ในการดำเนินกิจกรรม ที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ซึ่งได้แก่ นโยบายด้านสุขภาพอนามัย ด้านการศึกษา ด้านความมั่นคงของรายได้และการทำงาน ด้านสังคม วัฒนธรรม และด้านสวัสดิการสังคม ประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ทั้งจำนวน และ สัดส่วนประชากร
ประชากรกลุ่มนี้ จะมีปัญหาด้านสุขภาพ ร่างกาย และจิตใจ เนื่องจากเป็นวัย ที่ร่างกายมีการถดถอยเสื่อมลง จึงส่งผลให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ และปัญหาทางสุขภาพจิต การที่จะทำให้ผู้สูงอายุ มีอายุขัยเฉลี่ยที่สูงขึ้น ตลอดทั้งมีสุขภาพแข็งแรงทั้งร่างกาย จิตใจ จึงจำเป็นต้องมีการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค เพื่อนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ผม ขอแสดงความชื่นชมยินดี ต่อจังหวัดยโสธร และโรงพยาบาลยโสธร ที่มีความพยายามในอันที่จะดูแลส่งเสริมสุขภาพชีวิต ของผู้สูงอายุ โดยการจัดตั้งศูนย์พัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาขึ้น
ผม ขอขอบคุณผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตตรวจราชการที่ 14 ขอบคุณนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยโสธร ขอบคุณผู้อำนวยการโรงพยาบาลยโสธร และทีมงาน ขอบคุณประธานชมรมผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุทุกท่าน ตลอดจนภาคส่วน ต่าง ๆ ที่ได้ร่วมกันทำงานในครั้งนี้
ขออำนวยอวยพร ให้ประสบผลสำเร็จในการดำเนินงาน ตามเจตจำนงที่วางไว้ทุกประการ ขอให้ศูนย์แห่งนี้ มีความวัฒนา สถาพร เป็นที่พึ่งพิงแก่ผู้สูงอายุตลอดไป

ผมขอเปิดศูนย์พัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ณ บัดนี้
......................................................................