วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2552

การเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ ทั้ง 3 ลักษณะ

1. ข่าวเกี่ยวกับหน่วยงาน องค์กร และสถาบันโดยตรง

สวนดุสิต ร่วมกับสถานประกอบการ
พร้อมใจยกระดับความปลอดภัยของอาหารและรักษาสิ่งแวดล้อม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิทักษ์ จันทร์เจริญ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.)เปิดเผยว่า ในเดือนมีนาคม นี้ มสด. เตรียมดำเนินโครงการยกระดับการบริการและผลิตอาหารอย่างปลอดภัยและรักษาสิ่งแวดล้อมเนื่องจากความปลอดภัยของอาหาร และสุขอนามัยนับเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน ในประเทศไทยเองปัจจุบันมีปัญหาด้านการจัดบริการอาหารให้ปลอดภัย ประกอบกับกระแสตื่นตัวในการรักษาสิ่งแวดล้อมยังน้อยเกินไป จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการยกระดับและพัฒนาการบริการและผลิตอาหารให้ทัดเทียมสากล ซึ่งรัฐบาลก็ได้ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยของอาหาร โดยเน้นการผลิตอาหารและบริการอาหารสะอาดปลอดภัยจากสารพิษ รวมถึงรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้นในฐานะที่ มสด.เป็นแหล่งในการบริการวิชาการที่มีหลักสูตรด้านอาหาร ได้แก่ หลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร หลักสูตรอุตสาหกรรมอาหารและการบริการ หลักสูตรการจัดการธุรกิจอาหารและภัตตาคาร หลักสูตรการจัดการสิ่งแวดล้อมเมือง และหน่วยงานที่บริการและผลิตอาหาร อาทิ โครงการบริการอาหารกลางวัน 1 โครงการบริการอาหารและขนมอบ โรงเรียนการอาหารนานาชาติสวนดุสิต และโรงแรมสวนดุสิตเพลส

รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มสด. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางในการยกระดับการบริการและอาหารประกอบด้วยการนำเสนอกิจกรรมการยกระดับสถานที่ผลิตอาหารของสถานสงเคราะห์เด็ก กิจกรรมการยกระดับสถานที่ผลิตอาหารของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตโดยความร่วมมือกับหน่วยงานผลิตอาหารในมหาวิทยาลัย การพัฒนาแผงลอยริมบาทวิถี และการศึกษาประเมินความเสี่ยงของอาหารในผลิตภัณฑ์ประเภทซูชิ ผักสลัดและเบเกอรี่ โดยสุ่มตัวอย่างอาหารจากตลาดในพื้นที่ 50 เขตกรุงเทพมหานคร รวมทั้งศึกษาร้านอาหารต้นแบบที่สามารถจัดบริการได้ดีในด้านการบริการอาหารปลอดภัยและรักษาสิ่งแวดล้อม โดยจะมีการประชาสัมพันธ์ การจัดอบรมเพื่อเพิ่มเติมความรู้และเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ การสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนทัศนคติและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อมให้แก่ชุมชนบริเวณใกล้เคียง และร้านค้า โดยตั้งเป้าหมายในการอบรมผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 500 คน พัฒนาสถานสงเคราะห์เด็กประมาณ 25 แห่ง ยกระดับแผงลอยประมาณมากกว่า 30 ร้าน และร้านอาหารที่คาดว่าจะถูกคัดเลือกเพื่อเป็นร้านต้นแบบด้านการบริการดี อาหารปลอดภัยและรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่น้อยกว่า 50 แห่งจากทุกเขตของกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวที่ มสด. ร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กองสุขาภิบาลอาหารและสำนักงานเขตดุสิตกรุงเทพมหานคร ร่วมกันดำเนินการครั้งนี้ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อสุขภาพและระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอันมากซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจด้านอาหารจะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างดี ในสภาวะเศรษฐกิจของไทยกำลังมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตามขอให้คำนึงถึงประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ การทำให้คนไทยได้กินอาหารที่ดีและปลอดภัย
2. ข่าวเกี่ยวกับกิจกรรมที่จัดทำเพื่อการประชาสัมพันธ์

กระทงเทียนหอมสวนดุสิต
สีสันใหม่แห่งสายน้ำ ต้อนรับเทศกาลลอยกระทง

รศ.ดร.ชวนี ทองโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต กล่าวถึงเทศกาลลอยกระทงว่า การลอยกระทงเป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ เป็นประเพณีที่ได้รับความนิยมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เมื่อถึงวันเพ็ญเดือน ๑๒ ประชาชนจะจัดทำกระทงเป็นรูปต่างๆ ด้วยใบตอง หยวกกล้วย ดอกบัว เปลือกมะพร้าว หรือวัสดุอื่นๆ ตกแต่งกระทงให้สวยงามด้วยดอกไม้ และจุดธูปเทียนด้วยเครื่อง สักการบูชา หรือบางท้องถิ่นก็มีความเชื่อ ใส่สตางค์ หมากพลูตัดเส้นผม เพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ชีวิต ก่อนลอยในแม่น้ำและจะอธิฐานขอพร และขอขมาต่อพระแม่คงคา และการละเล่นแบบไทย การประกวดนางนพมาศ และสิ่งสำคัญทุกคนในครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกันในการทำกิจกรรม เช่น การทำกระทง ทำบุญตักบาตร

รศ.ดร. ชวนี ทองโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเพณีการลอยกระทง ยังเป็นประเพณีที่ได้รับความนิยมอย่างมาก แต่สิ่งที่ทำให้ประเพณีของเราเริ่มเปลี่ยนแปลงไป สังเกตได้จากการทำกระทง ที่เริ่มใช้วัสดุที่ ทำให้ย่อยสลายได้อยาก เช่น พลาสติก โฟม บางชนิดต้องใช้เวลาหลายปี เป็นผลให้เกิดมลพิษทางน้ำการทำให้หมดโดยเร็วก็คือการเผาซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศเช่นกัน หรือแม้กระทั่งการเล่น พลุ ดอกไม้ไฟ ประทัด ไม่ควรจุดใกล้บริเวณแรงดูดของไฟฟ้า หรือน้ำมันที่ก่อให้เกิดเชื้อเพลิง อาคารบ้านเรือน บางชนิดก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะกับเด็กที่มองเป็นเรื่องสนุก อยากให้ทุกคนร่วมกันรักษาประเพณีไทยเพื่อให้ประเทศไทยเรามีประเพณีลอยกระทงที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม นอกจากนี้สถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม ได้ร่วมรักษาประเพณีไทยด้วยการทำกระทงเทียนหอมเพิ่มสีสันใหม่ให้สายน้ำ

นางศุภลักษณ์ ทับทวี วิทยากรประจำสถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เปิดเผยว่า “ กระทงเทียนหอมสวนดุสิต เริ่มมีการประดิษฐ์คิดค้นกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ โดยอดีตผู้อำนวยการสำนักศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการเลียนแบบดอกบัวหลวงที่มีกลีบดอกสวยงาม ลักษณะของดอกบัวหลวงจะมีลักษณะกลมกว้างใหญ่ ผิวใบเรียบ สีเขียวขอบน้ำตาล ดอกเป็นกลีบซ้อนกันหลายชั้น มีสีขาว ชมพู เหลือง ซึ่งจะมีรูปแบบคล้ายกับกระทงใบตอง กระทงเทียนหอมสวนดุสิต เมื่อนำไปลอยในแม่น้ำแล้วจุดเทียนให้แสงสว่างไฟ จะมีแสงสะท้อนบวกกับดวงจันทร์ที่กระทบกับผิวน้ำ ซึ่งแสงสว่างจากกระทงเทียนหอมสวนดุสิต จะต่างจากวัสดุธรรมชาติ ตรงที่ว่าใบตองเป็นสีเขียวปกติ แล้วแต่งด้วยดอกไม้ แต่กระทงเทียนหอม สวนดุสิต คือ สีสันที่เราสร้างมันขึ้นมา เพื่อเป็นการเพิ่มสีสันให้กับสายน้ำในเทศกาลลอยกระทง ”

ทางด้านนางสาวบุษกร เข่งเจริญ วิทยากรประจำ สถาบันภาษาฯกล่าวเพิ่มเติมว่า “ ในส่วนของขั้นตอนการทำกระทงเทียนหอมสวนดุสิตนั้นเริ่มตั้งแต่การทำตัวแม่พิมพ์โดยการแกะสลักฟักทองเป็นรูปกลีบดอกบัว ซึ่งขั้นตอนนี้ถือว่าเป็นขั้นตอนแรก และเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการประดิษฐ์กระทงเทียนหอมสวนดุสิต ซึ่งต้องอาศัยฝีมือและความชำนาญในการแกะสลักเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งเป็นสูตรเฉพาะของสวนดุสิต และในปีนี้ทางเราได้เพิ่มสีสันที่หลากหลายลงไปในกระทงดอกบัว อาทิ สีแดง สีส้ม สีฟ้า สีม่วงและสีที่ได้รับความนิยมคือ สีเหลือง และสีชมพู โดยตัวกระทงจะมีกลิ่นหอมaromatherapy จาก essential oil ที่มีคุณสมบัติของกลิ่นหอมนาน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเนื่องจากคุณสมบัติลอยน้ำได้ดี จึงสะดวกในการเก็บขึ้นจากแม่น้ำลำคลอง เหมาะกับเทศกาลลอยกระทงที่กำลังจะมาถึง และสามารถนำเป็นของที่ระลึกหรือใช้ประดับตกแต่งบ้านได้ด้วย ”

ด้วยระยะเวลานับ ๑๐ ปี ผนวกกับฝีมือและความเป็นคนช่างคิดช่างประดิษฐ์ ในส่วนของงานศิลปะประดิษฐ์ ที่ได้มีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นโดยผู้ที่มีใจรักในงานศิลปะแขนงนี้ ทางมหาวิทยาลัยฯ มีนโยบายที่มุ่งเน้นส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยฯ มีความเชี่ยวชาญ รวมทั้งการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม สถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม จึงได้จัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเอกลักษณ์โดดเด่นและเป็นที่ยอมรับของคนในสังคมอยู่เป็นนิจ

แม้ว่ากระทงเทียนฯ ของสถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จะดำเนินธุรกิจมากกว่า ๑๐ ปีแล้ว ยังคงไม่มีคู่แข่ง เพราะกระทงเทียนหอมลอยน้ำนั้น จะมีขั้นตอนการทำที่ค่อนข้างยุ่งยาก และมีความประณีตสูง ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ยังไม่มีผู้ประกอบการหันมาทำกระทงเทียนหอมลอยน้ำอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ยังจะมีการพัฒนาในเรื่องของรูปแบบกระทงเทียนหอมสวนดุสิต โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นดอกไม้ชนิดอื่นๆ บ้าง เช่น ดอกกุหลาบ หรือดอกไม้ไทยชนิดอื่นๆ

ปัจจุบันกระทงเทียนหอมสวนดุสิต จัดจำหน่ายที่ อาคารเยาวภา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เพียงแห่งเดียว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม โทร.๐-๒๒๔๔-๕๓๕๐,๒
3. ข่าวเกี่ยวกับเรื่องที่มีประโยชน์ต่อสังคมแม้จะไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน องค์กร และสถาบันโดยตรง
สังคมไทยน่าห่วง เด็ก เยาวชนดื่มเหล้าเพิ่มเกือบ 3 เท่า
นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เปิดเผยถึงสถานการณ์ทางสังคมไทยไตรมาส 3 ประจำปี 2550 ว่า จากการติดตามของ สศช.พบว่ามิติด้านคุณภาพคน มีการจ้างงานขยายตัวในภาคอุตสาหกรรม การค้า โรงแรม และภัตตาคาร มีผู้ว่างงานร้อยละ 1.2 โดยเฉพาะกลุ่มผู้จบระดับปริญญา มีอัตราว่างงานสูงกว่าระดับอื่น ส่วนโรคเฝ้าระวังที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชนในช่วงไตรมาสนี้ ได้แก่ ไข้เลือดออก และโรคมือเท้าปาก
มิติด้านความมั่นคงทางสังคม พบว่า ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินลดลง การกระทำผิดของเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ชาย อายุ 15 - 18 ปี ส่วนการประสบอันตราย และการเจ็บป่วยจากการทำงาน มีแนวโน้มลดลงในทุกกรณี
มิติด้านพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของคน พบว่า เด็กและเยาวชนที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำในปี 2549 เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าของปี 2547 โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพิ่มถึง 15 เท่า ในกลุ่มเด็กอาชีวศึกษา ส่วนการบริโภคยาสูบ ในกลุ่มเด็กและผู้หญิงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน
มิติด้านสิ่งแวดล้อม พบว่าปริมาณฝุ่นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ลดความรุนแรงลง ส่วนมลพิษทางเสียงยังคงเป็นปัญหาหลักของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งต้นเหตุหลักมาจากยานพาหนะ ผับ เธค คาราโอเกะ และโรงงานอุตสาหกรรม
ที่มา : โดย ผู้จัดการออนไลน์ 12 ธันวาคม 2550 12:53 น.